คนชอบพูดโกหก ชอบด่าว่า พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ กรรมหนักแค่ไหน
วันนี้มีคติธรรมและข้อคิด เกี่ยวกับเรื่อง ของการทำผิดศีลข้อที่ ๔ คือ การพูดโกหก ชอบด่าว่า พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ ว่ากรรมหนักแค่ไหน มาฝากครับ
อันว่า ศีลข้อที่ ๔ ที่ว่า มุสาวาทา เวรมณี นั้น หลายๆ ท่านอาจจะเข้าใจว่า แค่เรื่องของการพูดโกหกเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่การพูดโกหกอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ และการพูดเพ้อเจ้ออีกด้วย คลิบนี้ผมจึงเอาคติธรรม และข้อคิดของครูบาอาจารย์ มาให้รับชม เผื่อจะเป็นประโยชน์ และเป็นข้อคิด ให้กับทุกท่าน ในการใช้ชีวิต
และใช้คำพูดกับผู้อื่น คำว่า มุสา แปลว่า เท็จ หรือไม่จริง ส่วนคำว่า วาท แปลว่า วาจา หรือคำพูด ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คนเรามักจะโกหกกันทางคำพูด แต่ว่า การแสดงออกทางกาย ก็ถือว่าใช่ เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น การเขียนจดหมายที่เป็นเท็จ การพิมพ์ข่าวที่เป็นเท็จ การทำหลักฐานปลอม การทำเครื่องหมาย ซึ่งทำให้คนอื่นหลงเชื่อ หรือการสั่นศีรษะ การพยักหน้า เป็นต้น
เรามาดูกันว่าการกระทำ ๔ อย่าง ที่นำให้เรา ทำผิดศีลข้อที่ ๔ นั้น ก็คือ การโกหก การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ และ การพูดเพ้อเจ้อ
๑. การพูดโกหกนั้น คือความไม่จริง เป็นเท็จ ซึ่งมีประมาณ ทั้งหมด ๗ ลักษณะด้วยกัน ได้แก่
๑. การพูดปด เช่น โกหกชัดๆ รู้แต่ว่าไม่รู้ เห็นแต่ว่าไม่เห็น ไม่มีแต่ว่ามี
๒. การสาบาน ทำเพื่อให้คนอื่น หลงเชื่อว่าตนเอง ไม่เป็นเช่นนั้น หรือการสาบาน ในการเป็นพยาน ว่าจะพูดเรื่องจริง แต่จริงๆ แล้ว เรื่องที่พูดไม่เป็นความจริง
๓. การทำเล่ห์ การอวดอ้าง ความศักดิ์สิทธิ์ เช่นใบ้หวย โดยไม่รู้จริง เป็นต้น
๔. มายา คือ การแสดงอาการ หลอกหลวง ทำให้คนอื่นเข้าใจผิด จากความเป็นจริง เช่น เจ็บน้อย แต่บอกว่าเจ็บมาก หรือไม่เจ็บ แต่ทำเป็นเจ็บ เป็นต้น
๕. ทำเลศ ดังเช่น ประมาณว่า จริงๆ แล้ว ไม่อยากจะพูดเท็จ เล่นสำนวน ชวนให้คนฟัง คิดผิดไปเอง พูดคลุมเครือ เล่นสำนวน เช่น เห็นโจรวิ่งราว ก็อยากจะช่วยปกปิด เลยย้ายที่ยืนเพื่อให้บัง พอมีคนมาถาม ก็บอกว่า อยู่ที่นี่ ก็ไม่เห็นมี ประมาณนี้เป็นต้น
๖. เสริมความ คือ การอาศัยมูลเดิม ทั้งที่เรื่องจริงก็มีนิดเดียว แต่เสริมเติมแต่ง และขยายความ เช่น การโฆษณา ที่เกินความเป็นจริง เป็นต้น
๗..อำความเรื่องใหญ่ แต่พูดตัดความ ให้เป็นเรื่องเล็ก คือ การปิดบัง ในส่วนที่ควรบอก หรือที่รู้ แต่กลับไม่รายงาน ให้เจ้าหน้าที่ทราบ เป็นต้น
๒. การพูดส่อเสียด (ปิสุณวาจา)
คือ การพูดแล้ว ทำให้คนอื่นเสื่อมเสีย จากเกรียติยศชื่อเสียง การนำเรื่องเสื่อมเสีย ของคนหนึ่งไปบอกอีกคนหนึ่ง การพูดยุยง ให้คนอื่นเขาแตกกัน ซึ่งทำได้ ทั้งทางวาจา ทางกาย เช่น เขียนข่าวยุแหย่ ให้คนเขาเสื่อมเสีย ให้คนรักกัน ให้คนเกลียดกันขึ้นมาได้ การพูดกระทบกระแทกแดกดัน จนทำให้ผู้อื่นเจ็บใจ หรือให้เขาเสียใจ เป็นต้น
๓. การพูดคำหยาบ (ผรุสวาท) ได้แก่
การด่า การสาปแช่ง ทั้งด้วยวาจา หรือทางกาย เช่น การเขียนด่า การทำท่าทาง ด้วยอาการโกรธเคือง ด้วยใจร้อนรุ่ม ลงมือทำเพราะโกรธเคือง เป็นคำที่ฟังแล้วไม่สบายใจ รู้สึกเจ็บแค้น หรือ คำหยาบ คำด่านั้น แม้ว่าคนถูกด่า จะอยู่ต่อหน้า ลับหลัง หรือ แม้กระทั่งตายไปแล้ว ก็ถือว่า เป็นการอกุศลกรรมบท
๔. การพูดเพ้อเจ้อ (สัมผัปปลาปะ)
คือ คนที่พูดเก่ง คุยสนุก แสดงออกอย่างสนุกสนาน แต่ว่า การพูดนั้น ไม่มีสาระแก่นสาร ในการเป็นคุณ แก่ผู้อื่นและสังคม ฟังแล้วสนุก แต่ปนด้วยโมหะ เพื่อให้หมดเวลาไปวันๆ หรือเสียเวลาไปเปล่าประโยชน์ คำพูด ที่ฟังแล้วสนุกสนาน ที่มันส์ ที่สะใจในอารมณ์ มักมีการ พูดล้อเล่น ล้อเลียนผู้อื่น ปะปนอยู่เสมอ เป็นการพูดทำลายประโยชน์ หรือการเล่า เรื่องหนัง นิยาย การแสดงตลก การเขียนเรื่องอ่านเล่น ที่เป็นเรื่อง เหลวไหลไร้สาระ ไม่ก่อประโยชน์ ให้ผู้ดู ผู้ฟัง ผู้อ่าน แต่ว่า การพูดเหลวไหล ไม่จัดเป็นมุสาวาท เพราะผู้พูด ไม่ได้เจตนาจะโกหก แต่ว่า หากมีความตั้งใจ จะมุสาปนอยู่ด้วย และผู้ฟัง ก็หลงเชื่อ ก็มีผล ทำให้ไปเกิดในอบายได้
เมื่อเราได้รู้ ถึงลักษณะ ที่ควรงดเว้น ในศีลข้อที่ ๔ แล้ว เราก็มาดูว่า องค์ประกอบ ที่เราได้ทำนั้น นำไปสู่ ของการผิดศีลหรือไม่ ซึ่งหลักๆ มี ๔ ข้อ ด้วยกัน ก็คือ
๑. เรื่องที่นำมาแสดงนั้น เป็นเรื่องไม่จริง
๒. มีจิตคิดจะพูดเท็จ
๓. กระทำการพูดเท็จ หรือ แสดงอาการทางกาย ทำให้ผู้อื่นเข้าใจความหมาย
๔. ผู้รับสาร เชื่อฟังตาม เนื้อหาอันเป็นเท็จนั้น หากเรา ทำครบทั้ง ๔ ข้อนี้ ก็ถือว่าผิด ศีลขาดทันที แต่ในส่วน ของกรณี การพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อนั้น จะอยู่ใน อนุโลมมุสา ที่ทำให้ศีลด่างพร้อย โทษของการทำผิดศีลข้อ ๔ นั้น แน่นอนว่า จะมากน้อย ก็ขึ้นอยู่แต่ละกรณี เรามาดูหลักเกณฑ์กันว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง
๑. ความเสียหายเกิดขึ้น
๒. เจตนา จะทำให้ผู้อื่นเสียหาย
๓. คุณธรรม ของผู้เสียหาย กล่าวคือ ถ้าเกิดความเสียหายมาก ก็ผิดมาก มีเจตนา หรือมีความพยายาม มากน้อยเพียงไร คุณธรรม ของผู้เสียหายมาก เราก็ผิดมาก เป็นต้น
เรื่องของ อนุโลมมุสา การทำให้ศีลด่างพล้อย นั้นก็คือ เรื่องที่กล่าว ไม่เป็นความจริง แต่ไม่ได้ต้องการ ให้ผู้ฟัง เกิดการเข้าใจผิด ยกตัวอย่างเช่น
๑. การพูดเสียดแทง กระทบกระแทกแดกดัน หรือพูดให้ผู้อื่นเจ็บใจ
๒. การพูดประชด ยกให้เกินความเป็นจริง
๓. การพูดด่า หรือกดให้ต่ำ กว่าความเป็นจริง
๔. การพูดสับปลับ แต่ไม่ได้ตั้งใจ ให้เข้าใจผิด
๕. การพูดคำหยาบ ต่ำทราม
๖. พูดคะนองวาจา และอีกประการหนึ่ง ที่หลายๆ คนอาจจะทำบ่อยนั่นก็คือ ตอนแรก คิดจะทำตามที่รับปากไว้ แต่ตอนหลังกลับไม่ทำ เรียกว่า ปฏิสสวะ คือ รับแล้วไม่ทำ และผลที่จะทำให้เสียชื่อเสียง ก็คือ
๑. ผิดสัญญา สองฝ่ายสัญญา ว่าจะทำเช่นนั้น
๒. เสียสัตย์ คือให้สัตย์ฝ่ายเดียวว่า ตนเองจะทำเช่นนี้ แต่ก็ไม่ทำ
๓. คืนคำ โดยรับปากว่าจะทำ โดยมีสัญญาว่า ตนจะทำ แต่ภายหลัง กลับไม่ได้ทำที่สัญญาไว้
ส่วน ยถาสัญญา คือ พูดตามที่ได้ยิน ได้ฟังมา หรือเข้าใจว่า เป็นเรื่องจริง คือ
๑. โวหาร พูดตามสำนวนโลก เช่น คำลงท้ายจดหมาย ด้วยความเคารพอย่างสูง
๒. นิยาย ลิเก ละคร แม้จะไม่จริง แต่ไม่เป็นมุสาวาท
๓. สำคัญผิด พูดด้วย เข้าใจว่าถูกต้อง ทั้งๆ ที่เรื่องนั้น ไม่เป็นความจริง เช่นจำวันผิด เป็นต้น
๔. พลั้ง พูดพลั้งเผลอ โดยไม่ได้ตั้งใจ ให้ผิดพลาด เป็นต้น และผู้ที่ผิดศีลข้อที่ ๔ บ่อยๆ นั้น ครูบาอาจารย์ ท่านได้ให้ข้อคิดเตือนสติว่า เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ก็จะเริ่มจากมหานรกขุมที่ ๔ คือ โรรุวมหานรก
ทุกวันนี้ เราอยู่ในโลกของโซเซียล โลกอินเตอร์เน็ต การเขียน การพิมพ์ หากเป็นเรื่องไม่จริง ทำให้คนอื่นเสื่อมเสีย ก็ทำให้เราผิดศีลเช่นกัน หรือแม้แต่การไปแสดงความเห็น ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ล่วงเกินผู้อื่น ที่สำคัญนั้น มันไปอย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง ยิ่งมีคนแชร์เยอะ ผลที่ตามมา ก็มากขึ้นด้วย อินเตอร์เน็ตมีคุณมาก แต่ก็มีโทษมาก เช่นเดียวกัน หากเรา นำไปใช้ในทางที่ผิด ครับ
ขออนุโมทนาบุญ และกราบขอบพระคุณครูบาอาจารย์ ทุกท่าน ที่ให้คติธรรม และข้อคิด ในการดำเนินชีวิต และขออนุโมทนาบุญ กับทุกท่าน ที่มีส่วนร่วม ในการจัดทำคลิบนี้ และรับชมคลิบนี้ สาธุครับ
ที่มา...dhammatuensati
คนชอบพูดโกหก ชอบด่าว่า พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ กรรมหนักแค่ไหน
Reviewed by Dusita Srikhamwong
on
กรกฎาคม 26, 2563
Rating:

ไม่มีความคิดเห็น: