ประโยชน์ของเล็บมือนาง ยอดและใบอ่อนต้มลวกกินกับน้ำพริก ดอกแห้งต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย




ประโยชน์ของเล็บมือนาง ยอดและใบอ่อนต้มลวกกินกับน้ำพริก ดอกแห้งต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย

เล็บมือนาง (Rangoon Creeper, Chinese honey Suckle, Drunen sailor) เป็นไม้เถาเลื้อยดอกหอมเป็นช่อ ดอกมีสีขาวหรือสีชมพู พบว่ามีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อนทั่วไป มีชื่อวิทยาศาสตร์ Combretum indicum (L.) DeFilipps (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Quisqualis indica L.) จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE) มีชื่อพื้นเมืองอื่นๆคือ จะมั่ง (เหนือ) จ๊ามั่ง (เหนือ) ไท้หม่อง (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) มะจีมั่ง (เหนือ) และ อะดอนิ่ง (มลายู ยะลา)

ดอกเล็บมือนาง อกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ปลายกิ่งหรือยอดของลำต้น ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 10-20 ดอก กลีบเลี้ยงเป็นหลอดยาวสีเขียว โดยมีความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ปลายแหลม มี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปหลอดรูปทรงกระบอกยาว ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 เซนติเมตร มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน

โดยช่อดอกเมื่อเริ่มบานจะเป็นสีขาวหรือสีชมพูอ่อน เมื่อดอกบานเต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม โดยดอกย่อยจะค่อย ๆ ทยอยบาน และเมื่อใกล้โรยจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ดอกมีกลิ่นหอมแรง โดยเฉพาะในตอนค่ำ

และโคนกลีบดอกมีใบประดับ หลอดของดอกจะโค้งเล็กน้อย และมีเกสรยาวยื่นออกมาจากกลางดอก เกสรเพศผู้มี 10 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน ออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน



ประโยชน์ของเล็บมือนาง

ใบอ่อนสามารถนำมารับประทานได้ นิยมรับประทานในอินโดนีเซีย ใช้ได้ทั้งดิบและสุก ด้วยการต้ม นึ่ง ลวก ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก

โดยคุณค่าทางโภชนาการของใบเล็บมือนาง ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 76 แคลอรี่, ความชื้น 76.4%, โปรตีน 4.8 กรัม, ไขมัน 0 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 18.1 กรัม, ใยอาหาร 2 กรัม, วิตามินเอ 11,180 หน่วยสากล, วิตามินบี1 0.04 มิลลิกรัม, วิตามินซี 70 มิลลิกรัม, แคลเซียม 104 มิลลิกรัม, และฟอสฟอรัส 97 มิลลิกรัม

สามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับซุ้ม ปลูกเป็นซุ้มตามประตู ตามรั้ว หรือขึ้นร้านเป็นหลังคาที่นั่งผักผ่อน หรือปลูกตามริมถนน หรือริมทางเดิน เป็นไม้โตเร็ว ปลูกง่าย มีดอกสวยงาม ให้กลิ่นหอมเย็น (โดยเฉพาะในตอนค่ำ) หรือจะนำมาปลูกริมทะเลก็ได้ เพราะทนน้ำท่วมขัง ทนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี



สรรพคุณของเล็บมือนาง

รากและใบมีรสเมาเบื่อ เป็นยาสุขุม ส่วนเมล็ดมีรสชุ่มเป็นยาร้อน สรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ (ราก,ใบ,เมล็ด)

ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก,ใบ)

ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยแก้ตานขโมยพุงโร (ทั้งต้น)[1] หรือจะใช้รากผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ จะมีสรรพคุณเป็นยาแก้ตานขโมย แก้เด็กเป็นซาง แก้ซางแห้ง แก้ธาตุวิปริต แก้อุจจาระพิการ แก้ตับทรุด และช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)

รากและใบใช้เป็นยาแก้ตานซางในเด็ก (ราก,ใบ) ส่วนเมล็ดเป็นยาแก้ตานซาง ตานขโมยในเด็ก (เมล็ด)

ใบหากนำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น จะเป็นยาแก้ตัวร้อน และแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)

ใบใช้ตำพอกแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)

ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (เมล็ด)

ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ใบ[5], เมล็ด

ช่วยแก้อาการไอ (ต้น,ราก,ใบ,ทั้งต้น)

ผลใช้รับประทานแล้วจะทำให้สะอึก (ผล)

ช่วยแก้อาการสะอึก (ราก,ใบ)

ช่วยในการย่อยอาหาร (เมล็ด)

รากมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ราก) ส่วนเมล็ดเป็นยาถ่าย (เมล็ด)

ใช้เป็นยาแก้ท้องอืดเฟ้อ (ใบ, เมล็ด

ดอกแห้งใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย (ดอก)

น้ำต้มเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้อหิวาตกโรค (เมล็ด)

ช่วยแก้ถ่ายปวดบิด แก้อาการปวดท้องเนื่องจากมีพยาธิอยู่ภายใน (เมล็ด)

ช่วยขับพยาธิและตานทราง (ทั้งต้น)



เมล็ดมีรสชุ่ม เป็นยาร้อน มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อม้าม กระเพาะ และลำไส้ ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ขับพยาธิไส้เดือน หากเป็นเด็กให้ใช้ 2-3 เม็ด ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้ใช้ครั้งละ 5-7 เม็ด นำมาทุบให้แตกแล้วต้มกับน้ำดื่ม หรือนำมาป่นให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอน หรือใช้ทอดกับไข่กินก็ได้

ส่วนรากและผลมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ ขับพยาธิไส้เดือนเช่นกัน (สารที่มีฤทธิ์ขับพยาธิได้ แก่ กรดอะมิโน Quisqualic acid) (ราก,ผล,เมล็ด) ส่วนอีกข้อมูลระบุว่ารากและใบมีรสเมาเบื่อและเป็นยาสุขุม ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลมและพยาธิเส้นด้ายได้ดี (ราก,ใบ)

รากและผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้อุจจาระเป็นฟอง เหม็นคาวในเด็ก (ราก,ผล)

ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี (เมล็ด)

เมล็ดนำมาแช่ในน้ำมัน ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง และแผลฝี (เมล็ด)

ใบใช้ตำพอกแก้บาดแผล เป็นยาสมาน หรือใช้ทาแก้แผลฝี แก้อักเสบ (ใบ)

ถ้านำใบไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ จะมีสรรพคุณเป็นยาถอนพิษ แก้สารพัด แก้กาฬ แก้พิษสำแดงของแสลง (ใบ)

ส่วนสรรพคุณของเล็บมือนางตามตำราการแพทย์แผนจีนระบุว่า ผลสุกมีรสหวานเล็กน้อย มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าพยาธิและช่วยในการย่อยอาหารให้ดีขึ้น สามารถใช้เป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือนและพยาธิเส้นด้ายได้ ส่วนเนื้อผลก็มีสรรพคุณเหมือนกัน

โดยทั่วไปจะนำมาใช้ในรูปแบบของยาตุ้ม หรือจะนำเนื้อผลมาผัด ก็จะมีสรรพคุณช่วยลดอาการข้างเคียงที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อกระบังลมได้

และยังช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้น ฆ่าพยาธิ และทำให้ม้ามแข็งแรง (ส่วนใหญ่จะใช้รักษาอาการปวดท้องอันเนื่องมาจากพยาธิไส้เดือนหรือพยาธิเส้นด้ายในเด็ก) โดยให้ใช้ผลครั้งละ 9-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้เนื้อผล 6-9 กรัม ทำเป็นยาลูกกลอนหรือยาผงรับประทานครั้งเดียวหรือสองครั้ง (ผล)

หมายเหตุ : 

ถ้าเป็นเมล็ด สำหรับผู้ใหญ่ให้ใช้เมล็ดแห้งครั้งละ 10-15 กรัม (ประมาณ 5-7 เมล็ด) ส่วนรากให้ใช้รากแห้งครั้งละ 6-10 กรัม และใบให้ใช้ใบสดครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้าตำรายาอื่นตามต้องการ

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรเล็บมือนาง

ในเมล็ดเล็บมือนางมีพิษ ห้ามรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด หากได้รับพิษจะทำให้มีอาการสะอึก อาเจียน วิงเวียนศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย และมีอาการถ่าย

ห้ามรับประทานยานี้ควบคู่กับน้ำชาหรือชาร้อน เนื่องจากจะลบฤทธิ์กัน


อ้างอิงข้อมูลข้อมูลบางส่วน https://medthai.com/


ประโยชน์ของเล็บมือนาง ยอดและใบอ่อนต้มลวกกินกับน้ำพริก ดอกแห้งต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย ประโยชน์ของเล็บมือนาง ยอดและใบอ่อนต้มลวกกินกับน้ำพริก ดอกแห้งต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย Reviewed by Dusita Srikhamwong on กรกฎาคม 17, 2562 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.