บอระเพ็ด สมุนไพรรสขม แต่มีดีในเรื่องการแก้ไข้ เจริญอาหาร และลดน้ำตาลในเลือดได้




บอระเพ็ด สมุนไพรรสขม แต่มีดีในเรื่องการแก้ไข้ เจริญอาหาร และลดน้ำตาลในเลือดได้

ตามที่คำคนโบราณได้กล่าวเอาไว้ว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา เป็นความจริงที่เถียงก็ยาก ดูอย่างบอระเพ็ด สมุนไพรรสขมปี๋ชนิดนี้ ที่ข้างในมีดีอยู่เยอะแยะ มาลองทำความรู้จักสรรพคุณของบอระเพ็ดกันดีกว่า เห็นว่าช่วยลดไข้ แก้ร้อนใน ช่วยให้เจริญอาหาร และยังช่วยบรรเทาได้อีกหลายอาการป่วย

บอระเพ็ดมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Tinospora cordifolia ชื่อวิทยาศาสตร์ของบอระเพ็ดคือ Tinospora crispa (L.) Miers ex Hook.f&Thomson จัดเป็นไม้เถาอยู่ในวงศ์ Menispermaceae และนอกจากชื่อบอระเพ็ดแล้ว ในบ้านเรายังเรียกบอระเพ็ดในอีกหลาย ๆ ชื่อ เช่น ตัวเจตมูลยาน เถาหัวด้วน หางหนู จุ่งจิง เครือเขาฮอ เจตมูลหนาม หรือจุ้งจาลิงตัวแม่

บอระเพ็ดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ไม่มีขน ยาวได้ถึง 15 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร เปลือกเถาหนา 1.5-2.5 มิลลิเมตร ผิวบอระเพ็ดเป็นสีน้ำตาล เนื้อในมีสีเทาแกมเหลือง เถามีลักษณะกลม ผิวเปลือกเถาขรุขระเป็นปุ่มกระจายไปทั่ว และเมื่อแก่จะเห็นปุ่มปมเหล่านี้หนาแน่นและชัดเจนมาก

เปลือกเถาบอระเพ็ดมีรสขม ลอกออกได้ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบบอระเพ็ดมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ ก้านใบยาว 8-10 เซนติเมตร ส่วนดอกบอระเพ็ดจะออกตามซอกใบ ดอกแยกเพศอยู่คนละช่อ ลักษณะดอกบอระเพ็ดมีสีเขียวอมเหลือง ดอกขนาดจิ๋ว ผลรูปร่างค่อนข้างกลม มีสีเหลืองหรือสีแดง
บอระเพ็ด สรรพคุณเด็ดดวง


สรรพคุณของบอระเพ็ดหลัก ๆ แล้วจัดเป็นสมุนไพรแก้ไข้ ลดความร้อนในร่างกาย โดยประโยชน์ของบอระเพ็ดสามารถจำแนกได้ ดังนี้

1. แก้ไข้

เถาบอระเพ็ดมีรสขมจัด สรรพคุณช่วยแก้ไข้ทุกชนิด โดยใช้เถาแก่สดหรือต้นสด 2 คืบครึ่ง (30-40 กรัม) ตำผสมน้ำเล็กน้อย แล้วคั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม หรือต้มกับน้ำโดยใช้น้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มเป็นยาขมวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น หรือเวลามีอาการ

2. ช่วยเจริญอาหาร แก้เบื่ออาหาร

ใช้เถาแก่สดหรือต้นสด 2 คืบครึ่ง (30-40 กรัม) ตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม หรือต้มกับน้ำโดยใช้น้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มเป็นยาขมวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น หรือเวลามีอาการ หรือบดเป็นผง ทำให้เป็นลูกกลอนรับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า, เย็น

3. บำรุงกำลัง

ต้นบอระเพ็ดสามารถนำมาต้มเป็นยาขมดื่มบำรุงกำลัง บำรุงธาตุได้ โดยใช้ต้นบอระเพ็ดล้างสะอาด ประมาณ 2 คืบครึ่ง ตำให้แหลกแล้วมาคั้นเอาแต่น้ำไปดื่มบำรุงกำลัง หรือจะต้มตำรับเดียวกับยาลดไข้ก็ได้เช่นกัน

4. รักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคันตามร่างกาย

ในใบบอระเพ็ดมีสารที่ช่วยรักษาโรคผิวหนัง โดยเฉพาะอาการผดผื่นคัน โดยนำใบบอระเพ็ดล้างสะอาด ตำให้ละเอียด จากนั้นนำมาพอกตามจุดที่มีผื่นคัน หรือบริเวณผิวที่มีการอักเสบ เพราะสารในใบบอระเพ็ดมีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบได้

5. แก้ฝี แก้ฟกช้ำ

ใช้ใบบอระเพ็ดตำให้ละเอียดแล้วมาพอกฝี หรือแก้ฟกช้ำตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

6. เป็นยาอายุวัฒนะ

ส่วนทั้ง 5 ของบอระเพ็ด คือ ราก ต้น ใบ ดอก ผล นำมาปรุงยาอายุวัฒนะได้ ซึ่งจะช่วยแก้ปวดเมื่อย แก้ไข้ ปวดศีรษะ รักษาฟัน รักษาโรคริดสีดวงทวาร ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ฝีมดลูก แก้ร้อนใน ลดความร้อน แก้ดีพิการ แก้เสมหะ บำรุงเลือดลม และแก้ไข้จับสั่น เป็นต้น

7. ลดน้ำตาลในเลือด

ผลการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า บอระเพ็ดสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยภาวะอ้วนลงพุงที่รับประทานแคปซูลผงบอระเพ็ด ขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือยาหลอกเป็นเวลา 2 เดือน ได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มทดลองก่อนรับประทานบอระเพ็ด ทว่าการทดลองเรื่องบอระเพ็ดลดน้ำตาลในเลือดจำเป็นต้องศึกษาลึกไปกว่านี้เพื่อความชัดเจนและถูกต้องของข้อมูล


บอระเพ็ด ลดน้ำหนักได้ไหม

ก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่าบอระเพ็ดช่วยลดน้ำหนักได้ ซึ่งแพทย์หญิงสายชลี ทาบโลกา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนจีนและเวชศาสตร์ด้านการฝังเข็มและฟื้นฟูชะลอวัยประจำชีวจิตโฮมคลินิก อธิบายว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าบอระเพ็ดช่วยลดความอ้วนได้ ดังนั้นการนำบอระเพ็ดมาช่วยลดความอ้วนอาจต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป เพราะในบางคนฤทธิ์จากบอระเพ็ดจะเข้าไปลดความร้อนในร่างกาย และอาจมีผลทำให้เจริญอาหารได้

บอระเพ็ด โทษและข้อควรระวังก็มีนะ

แม้สรรพคุณบอระเพ็ดจะมีพอตัว แต่หากกินไม่ระวังก็อาจเป็นโทษต่อร่างกายได้ ดังนี้

1. หากกินบอระเพ็ดเป็นระยะเวลานาน (ติดต่อกัน 8 สัปดาห์) อาจก่อผลเสียต่อตับ

2. อาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีภาวะเอนไซม์ตับบกพร่อง หรือเป็นโรคตับ โรคไต


ที่มา:https://health.kapook.com/view206518.html


บอระเพ็ด สมุนไพรรสขม แต่มีดีในเรื่องการแก้ไข้ เจริญอาหาร และลดน้ำตาลในเลือดได้ บอระเพ็ด สมุนไพรรสขม แต่มีดีในเรื่องการแก้ไข้ เจริญอาหาร และลดน้ำตาลในเลือดได้ Reviewed by Dusita Srikhamwong on พฤศจิกายน 03, 2562 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.